เมื่อมันวิ่งไม่ออก...
- คุณแหนด
- 5 days ago
- 1 min read
บอกไว้ก่อนว่าบล็อกนี้อาจไม่มีคำตอบหรือข้อสรุปให้ แต่มีความเข้าใจและกำลังใจให้สำหรับคนที่อยู่ในภาวะนี้นะคะ
ฉันว่านักวิ่งแทบทุกคนเคยผ่านความรู้สึก "ไม่อยากวิ่ง" กันมาไม่มากก็น้อย หรือบางคนอาจจะกำลังเป็นอยู่ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติแหละ และหลายครั้งเราก็รู้ตัวว่าไอ้ที่ไม่อยากวิ่งนี่เพราะขี้เกียจ เม้ากับเพื่อนติดลม หรือยังไม่หายเมื่อยจากเมื่อวาน แต่นอกจากเหตุผลทั่วไปพวกนี้ บางครั้งที่ไม่อยากวิ่งมันก็เป็นเพราะเราเหนื่อย...ไม่ได้เหนื่อยกับการวิ่ง แต่เหนื่อยกับชีวิต ถึงเลเวลที่ไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว แม้แต่การวิ่งที่เรารัก เคยเป็นกันมั้ย?
ฉันอะเป็น ไม่บ่อยแต่เป็นทีก็หนักอยู่ ถ้าคุณเคยอ่านบทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตในบล็อกนี้มาบ้าง คุณคงพอทราบว่าฉันมีภาวะ C-PTSD (Complex / Childhood Post Traumatic Stress Disorder) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวลาอาการกำเริบขึ้นมา ฉันจะดิ่ง ใจหดหู่ ร่างห่อเหี่ยว กว่าจะลากสังขารออกไปเดินหรือวิ่งได้ก็ยากเอาเรื่อง ซึ่งอันนี้ฉันฝึกตัวเองให้เอาชนะมันอยู่ค่ะ สำเร็จมั่งไม่สำเร็จมั่ง ค่อยๆ ว่ากันไป แต่ชีวิตอะนะ บางทีก็ใจดีแจกโปรสุดคุ้ม ให้เราได้เจอเรื่องหนักเป็นพิเศษซ้อนเข้ามาอีก ซึ่งในภาวะดับเบิ้ลดิ่งอย่างนี้ อย่าว่าแต่วิ่งเลย แค่ลุกจากเตียงยังยาก
และเรื่องหนักพิเศษประจำซีซั่นล่าสุดของฉันก็คือ...แม่สามีของฉันเสียชีวิตอย่างกะทันหัน พวกเราต้องรีบบินไปจัดการงานศพและธุรกรรมการเงินต่างๆ ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนๆ และมีขั้นตอนซับซ้อนวุ่นวายกว่าของไทยมากกกก และในขณะที่กำลังเตรียมงานศพแม่ พ่อสามีก็มาป่วยและอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และจากไปหลังจากแม่แค่ 3 สัปดาห์ ในขณะเดียวกัน ดราม่าเรื้อรังระหว่างฉันและพ่อของฉันเองที่ไทยก็ปะทุขึ้นมาอีก ซึ่งเรื่องพ่อสำหรับฉันเปรียบได้กับด่านระดับตัวบอส เป็นเรื่องที่ก้าวข้ามได้ยากและเป็นหัวข้อหลักในการบำบัดสุขภาพจิตของฉันตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา วันที่ดราม่าปะทุ...ฉันกลับเข้าดินแดน emotional flashback แห่งประเทศ C-PTSD อย่างเต็มตัว และไม่ลุกจากที่นอนเลยทั้งวันค่ะ วันถัดมา ลุกจากที่นอนแต่ไม่ออกจากห้องนอนไปเจอใคร ให้สามีเอาอาหารมาให้กินในห้อง เก็บตัว หลบหน้าพี่เขยพี่สะใภ้ ไม่เล่นกับหลาน เป็นอย่างนั้นอยู่เกือบ 7 วัน หลังจากนั้นก็ออกจากห้องบ้าง แต่ออกมาแป๊บเดียวแล้วก็กลับเข้าไปใหม่ แอพโค้ชวิ่งที่ฉันใช้ก็ส่งโนติเตือนให้ฉันออกไปซ้อมตามตาราง ฮาฟมาราธอนถัดไปก็สมัครแล้ว แต่ฉันปล่อยไหล ไม่มีกะใจ สิ่งเดียวที่คิดคือ...
แค่สู้กับชีวิตก็เหนื่อยจะตายห่าอยู่แล้ว จะออกไปวิ่งให้ตัวเองเหนื่อยอีกทำไม?
ถ้าคุณเคยคิดแบบนี้เหมือนกัน เอาเป็นว่าคุณไม่ได้คิดอยู่คนเดียวล่ะ ในภาวะที่ทั้งเครียดจัด ต้องรับมือกับการสูญเสีย แล้วยังมาโดน trigger ให้กลับไป emotional flashback อีกนั้นฉันคิดไม่ออกเลยจริงๆ ว่าจะพาตัวเองออกไปวิ่งได้ยังไง ในขณะที่สามีฉันนั้น ตั้งแต่วันที่แม่เสียเค้าก็ออกไปวิ่ง วิ่งทุกวัน วิ่งเพื่อจัดการกับความเศร้าของตัวเอง ฉันทำแบบนั้นไม่ได้ ฉันไม่สามารถเปลี่ยนความเศร้าเป็นแรงผลักดันได้ค่ะ สิ่งที่ฉันทำได้ก็คือค่อยๆ รอให้ความหนักอึ้งนี้มันผ่านไป ซึ่งถ้าใครจะบอกว่าฉันอ่อนแอ ก็ใช่เลยค่ะ ไม่ผิด ฉันไม่ได้เข้มแข็งตลอดเวลา แต่อย่างน้อยฉันก็กล้าและหนังหน้าหนาพอที่จะยอมรับจุดอ่อนของตัวเอง และคนเรามีวิธีรับมือกับความทุกข์ความเศร้าไม่เหมือนกัน
ภาวะที่ฉันเป็นในช่วงนั้น ฉันเดาเอาเองว่ามันอาจจะเป็น "ภาวะซึมเศร้า" (depressive episode) ซึ่งไม่ใช่ "โรคซึมเศร้า" (depressive disorder) นะ แค่เป็นจังหวะชีวิตที่บุญต่ำแต่กรรมพุ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน และในระหว่างที่ดิ่งนี้ ถ้าวิ่งไม่ได้ อย่างน้อยก็ดูแลใจตัวเองไปค่ะ อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ทำอะไรที่สมองไม่ต้องคิดมาก สักพักมันจะค่อยๆ คลี่คลาย จิตใจก็จะค่อยๆ ฟูกลับขึ้นมาเอง เหมือนหมอนเมมโมรีโฟม ว่างั้น (แต่ถ้าเป็นเดือนๆ แล้วยังไม่ฟูอีก พบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์โลดค่ะ ฉันก็เคยพบมาแล้วทั้งสองสาย)


ซึ่ง...ส่วนมากแล้ว ทุกเรื่องมันจะคลี่คลายแหละ อย่างที่พระท่านว่าสุขทุกข์ก็ล้วนไม่จีรัง มันจริงนะ ในที่สุดฉันก็ทำใจเรื่องพ่อได้มากขึ้น ผ่านไป 10 วันฉันก็กลับมาวิ่งค่ะ ซึ่งการกลับมาวิ่งครั้งแรกฉันก็ไม่ได้เก่งกาจขนาดออกไปวิ่งคนเดียวหรอกนะ ฉันไป Parkrun ซึ่งเป็นกิจกรรม "วิ่งหมู่" ที่สวนสาธารณะต่างๆ มีทั่วเกาะอังกฤษและในอีกหลายๆ ประเทศ Parkrun เป็นการวิ่งที่ทุกคนมาร่วมวิ่งได้ฟรี มีรูทวิ่งชัดเจน ทุกคนเริ่มวิ่งพร้อมกัน มีการจับเวลา วิ่งจบก็เม้ามอยกันนิดหน่อยแล้วแยกย้าย ฉันไปอาศัยเสพเอเนอร์จี้ของนักวิ่งคนอื่นๆ เอานี่แหละ มันช่วยได้มากค่ะ แต่สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากการ "วิ่งไม่ออก" ครั้งนี้ และอยากเอามาแชร์ เผื่อใครเจอภาวะประมาณเดียวกันก็คือ...
ความเหนื่อยทางใจมีผลกับร่างกายจริงค่ะ (ฉันเคยพูดเรื่องนี้แล้วล่ะในบทความอื่นๆ) และบางครั้งมันทำให้เราไม่มีแรง ซึ่งถ้าใครฝืนไหว ฉันยินดีด้วยนะคะ แต่ถ้าใครฝืนไม่ไหวเหมือนฉัน อนุญาตให้ตัวเองพักค่ะ
บางครั้งการรักตัวเองก็คือการปล่อยให้ตัวเองนอนนิ่งๆ เพราะเวลาเราเครียดมากๆ การนอนมันช่วยรีเซ็ทสมองของเราได้ ฉันไม่ฝืนตัวเองให้ออกไปวิ่งเพราะหนึ่งในปัญหาของคนที่มี C-PTSD คือเราถูก trauma สอนให้ไม่ฟังเสียงร่างกายตัวเอง และละเลยความต้องการของตัวเอง แต่จะหันไปตอบสนองความต้องการของคนอื่นก่อนเสมอ (มันคือ people pleasing) ดังนั้นการที่ฉันนอนพัก คือฉันฝึกที่จะเคารพความต้องการของสังขารตัวเองอยู่ และเมื่อร่างกายพักผ่อนเพียงพอแล้ว เราจะรู้เองค่ะว่าเราพร้อมวิ่งแล้ว
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการเหมือนฉัน...ยินดีด้วยค่ะคุณมีเพื่อนแล้ว และถ้าคุณเป็นคนที่มีเพื่อนเป็นแบบฉัน ถ้าเค้าไม่วิ่ง โปรดเข้าใจว่าเค้าไม่ได้ขี้เกียจหรอกนะ เค้าเจ็บอยู่ ปล่อยให้เค้ารักษาแผลใจก่อน เค้าพร้อมแล้วเค้าจะกลับมาเอง ถ้าเค้ารักการวิ่งจริงๆ เค้าไม่ทิ้งมันหรอกค่ะ

Comments